ก่อนอื่นเราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่า Computer Tomography Scan หรือเรียกสั้นๆว่า CT Scan คืออะไร ซึ่งก็คือการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยแพทย์จะทำการฉายรังสีเอกซเรย์เข้าไปตามร่างกายบริเวณที่ต้องการตรวจ แล้วคอมพิวเตอร์จะทำการสร้างภาพแสดงลักษณะอวัยวะภายในร่างกาย เพื่อนำภาพที่ได้มาประกอบการวินิจฉัยหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกายเป็นขั้นต่อไป ซึ่งวิธีการใช้ CT scan นี้จะได้ภาพที่มีความละเอียดสูงกว่าการใช้วิธีเอ็กซเรย์แบบธรรมดาทั่วไปและสามารถนำไปใช้ตรวจอวัยวะภายในร่างกายได้เกือบทุกส่วน
CT Scan มีประเภทอะไรบ้าง ???
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในรูปแบบภาพตัดขวางพื้นฐาน (Convention CT Scan) ซึ่งตัวเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะหมุนเป็นลักษณะวงกลมรอบตัวผู้ป่วย เพื่อที่รังสีเอกซเรย์จะได้ผ่านตัวผู้ป่วย 1 รอบ ทำให้ได้ภาพ 1 ภาพ โดยเตียงจะค่อยๆเคลื่อนไปทีละตำแหน่ง หลังจากนั้นนำภาพที่ได้มาสร้างเป็นภาพตัดขวางของอวัยวะได้ทีละภาพ
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบเกลียว (Spiral/Helical CT Scan) ตัวเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะหมุนเป็นวงรอบตัวผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมื่อรังสีผ่านตัวผู้ป่วยจะได้ภาพหลายภาพ ข้อดีของประเภทนี้ก็คือใช้เวลาน้อยกว่าแบบภาพตัดขวางพื้นฐาน ประกอบกับได้ภาพที่มีความแม่นยำสูงกว่าอีกด้วย
สาเหตุที่ต้องทำ CT Scan โดยส่วนมากแพทย์จะเป็นผู้แนะนำผู้ป่วยทำ CT Scan เมื่อเจอกรณี ดังนี้
- ตรวจและวินิจฉัยอาการป่วย : เช่น การตรวจหาอาการบาดเจ็บหรือความเสียหายของอวัยวะภายใน, ภาวะเกิดมีเลือดออกที่อวัยวะภายใน, การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ, การเกิดลิ่มเลือด, รอยแตกร้าวของกระดูก, การเกิดเนื้องอกตามจุดต่างๆในร่างกาย เป็นต้น
- ติดตามรักษาอาการป่วย : ทั้งช่วงที่อยู่ในระหว่างการหลังษาและหลังจากรักษาไปแล้ว เช่น การตรวจดูขนาดของก้อนเนื้องอกต่ามจุดต่างๆ, ตรวจวัดผลดูหลังจากการรักษามะเร็ง
ข้อดีของการทำ CT Scan
- สามารถตรวจสอบอวัยวะภายในร่างกายส่วนใหญ่ได้
- ไม่เกิดผลกระทบความเจ็บปวดอะไรในร่างกายขณะกำลังสแกน
- ทำใหการวินิจฉัยของแพทย์แม่นยำขึ้น เพราะภาพที่ได้จะชัดเจนละเอียดสูงกว่าการทำอัลตราซาวนด์
- ใช้เวลาสแกนได้รวดเร็วกว่าหากเมื่อเปรียบเทียบกับการแสแกนแบบ MRI
ข้อเสียของการทำ CT Scan
- การแปลผลเอกซเรย์อาจเกิดข้อผิดพลาดได้หากมีวัตถุแปลกปลอมเข้าไปรบกวนการทำงานของเครื่อง เช่น เครื่องประดับต่างๆ หรือโครงเหล็กเสื้อชั้นในของสตรี
- ความไม่เข้าใจถึงข้อปฎิบัติของผู้ป่วยในช่วงขณะสแกน เช่นต้องกลั้นหายใจ ซึ่งผู้ป่วยบางรายไม่เข้าใจว่าจะต้องทำอย่างไร
- ในขณะทำ CT Scan ตรงบริเวณสมอง อาจเกิดข้อผิดพลาดได้คือ สแกนโดนกระดูกส่วนกะโหลกศีรษะบังทำให้แปลผลคาดเคลื่อน
- CT Scan ต้องใช้ปริมาณรังสีมาก อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาที่เกี่ยวกับสุขภาพจากการที่ต้องรับรังสีมากจนเกินไป